- รู้หรือไม่? ไม่ใช่แค่คนเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับอันตรายจากโรคหัวใจ แต่น้องสุนัขแสนรักของเรา ก็มีโอกาสที่จะป่วยด้วยโรคนี้ได้ด้วยเช่นกัน บทความนี้ชวนเจ้าของมารู้ทันอาการป่วยของสุนัข ที่อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าน้องกำลังเป็นโรคหัวใจ มาดูกันว่า มีอาการอะไรบ้างที่น่าสงสัย และเราควรรับมืออย่างไร เพื่อให้น้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
10 อาการสุนัขป่วย ที่บ่งบอกว่าน้องอาจเป็นโรคหัวใจ
----------------------------------------------------------------------
• มีอาการไอแห้ง ไอเรื้อรัง และไอบ่อยในช่วงกลางคืน
• มีอาการกระวนกระวายและนอนไม่หลับ โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
• มีอาการหายใจลำบาก จนต้องอ้าปากเพื่อหายใจ และไม่สามารถนอนตะแคงได้
• มีอาการอ่อนเพลียง่าย โดยเฉพาะในสุนัขที่เริ่มมีอายุมาก
• ไม่ชอบการออกกำลังกาย แค่ขยับร่างกายเล็กน้อยก็แสดงอาการเหนื่อยอย่างชัดเจน
• เป็นลม หมดสติ
• ท้องขยายใหญ่ผิดปกติ
• เบื่ออาหาร กินอาหารน้อยลง
• น้ำหนักขึ้น-ลงผิดปกติ
• พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น เก็บตัว ไม่เล่นกับตัวอื่น
เจ้าของควรรับมืออย่างไร กับอาการป่วยของสุนัขที่น่าสงสัย?
----------------------------------------------------------------------------------
- อันดับแรก เจ้าของจะต้องหมั่นตรวจเช็กอาการป่วยของสุนัขที่ผิดปกติ โดยเฉพาะน้อง ๆ สุนัขที่มีอายุมาก ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจได้มากกว่าปกติ หากพบว่ามีอาการป่วยข้อใดข้อหนึ่งในข้างต้น หรือมีพฤติกรรมที่ผิดแปลกไปจากเดิม ควรรีบพาสุนัขไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยเร็วที่สุด
แนวทางการรักษาโรคหัวใจในสุนัข
---------------------------------------------
- เมื่อพบว่าน้อง ๆ ของเรามีอาการสุนัขป่วยที่น่าสงสัย หลังจากที่เราพาน้องไปพบสัตวแพทย์ จะมีการซักประวัติ ซึ่งเราเองก็จะต้องบอกเล่าถึงอาการต่าง ๆ ที่น้องสุนัขเป็นให้กับสัตวแพทย์ฟังอย่างละเอียด เพราะอาการบางอย่างมักไม่แสดงออกมาในระหว่างที่ตรวจ จากนั้นสัตวแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ร่วมกับการฟังเสียงหัวใจและปอด เพื่อตรวจหาความผิดปกติอื่น ๆ เพิ่มเติม
- หลังจากทำการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นแล้ว สัตวแพทย์จะทำการตรวจในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด, เอกซเรย์ช่องอก, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ หรือ อัลตราซาวนด์หัวใจ เพื่อดูว่าเป็นโรคหัวใจชนิดใด และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมในลำดับต่อไป
- สำหรับการรักษาโรคหัวใจในสุนัขนั้น จะขึ้นอยู่กับชนิดของโรค และปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลสุขภาพของน้อง ๆ ควบคู่กันไป ซึ่งหลังจากที่สัตวแพทย์จ่ายยาตามอาการแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าของ ที่จะต้องเฝ้าดูแลน้อง ๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกกำลังกาย การพักผ่อน รวมถึงการจัดเตรียมอาหารที่เหมาะสม โดยการเลือกซื้ออาหารหมาป่วยตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ เพื่อฟื้นฟูร่างกายและช่วยให้น้อง ๆ สามารถอยู่กับเราไปได้อีกยาวนาน
วิธีป้องกันโรคหัวใจในสุนัข
- สิ่งที่อันตรายของโรคหัวใจในสุนัขก็คือ ในระยะเริ่มแรกอาจไม่ปรากฏอาการป่วยของสุนัขใด ๆ หรืออาจแสดงอาการออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จนทำให้เจ้าของไม่ทันได้สังเกต ดังนั้น เจ้าของจึงควรพาสุนัขเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทุก ๆ 6 เดือนหรือ 1 ปี เพื่อให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ทันท่วงที รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากของน้อง ๆ เพราะโรคในช่องปากสามารถนำไปสู่การติดเชื้อในหัวใจได้
-